RSS

การดื่มกาแฟของชาวพม่า

03 เม.ย.

                   แหล่งความสุขเดิม ๆ ของคนพม่า ที่ดูโดดเด่นมากที่สุดมี ๒ แห่ง คือ ที่ลานพระเจดีย์ และที่ร้านน้ำชา กล่าวได้ว่าชาวพม่าจะหาความสงบกันที่ลานเจดีย์ และไปหาความบันเทิงกันที่ร้านน้ำชา สองสิ่งนี้สามารถบันดาลความสุขให้กับผู้คนได้ทุกชนชั้น หากไปย่างกุ้งแล้วไม่เคยแวะเวียนไปเที่ยวเจดีย์ หรือไม่เคยนั่งลิ้มรสบรรยากาศที่ร้านน้ำชา ก็นับว่ายังสัมผัสไม่ถึงความสุขที่เรียบง่าย ซึ่งหาได้ยากในสังคมสมัยใหม่
ในประเทศพม่า มีร้านน้ำชาอยู่ทั่วไป หาได้ง่ายไม่ว่าในเมืองหรือในชนบท โดยเฉพาะในตัวเมือง จะมีร้านน้ำชาอยู่ทั่วทุกย่าน ที่เมืองย่างกุ้งจะพบร้านน้ำชาทั้งในตลาด แถวริมทาง ย่านที่อยู่อาศัย ตามสถานที่ราชการ และในสถานศึกษา ทำเลที่ดีที่สุดของร้านน้ำชาจะอยู่ที่ใต้ร่มไม้ หรือไม่ก็ที่ริมทางซึ่งผู้คนสัญจรไปมา พม่าเรียนร้านน้ำชาว่า ละแพะ-เหย่-ส่าย
                    ร้านน้ำชาส่วนมากที่อยู่ในย่านชุมชน มักจะเปิดจำหน่ายน้ำชากันตลอดวัน เริ่มตั้งแต่เช้าราวตี ๔ และปิดในเวลาประมาณ ๓ ทุ่ม หากเป็นช่วงหน้าร้อนก็จะปิดดึกกว่านี้ อาจถึงราว ๕ ทุ่ม เพราะผู้คนมักจะหนีความร้อนอบอ้าวภายในบ้าน มานั่งรับลมกันยังนอกบ้าน
                   ร้านน้ำชาหลายที่จะเปิดเพลงบริการลูกค้า เพราะคนพม่าชอบฟังเพลง และชอบร้องเพลง เพลงเป็นสิ่งดึงดูดลูกค้าได้มาก ร้านที่เปิดเพลงบริการลูกค้ามักจะขายดี เพลงส่วนใหญ่ที่เปิดในร้านน้ำชามักจะเป็นเพลงสมัยนิยม แทบไม่มีเพลงศาสนา ไม่มีเพลงย้อนยุค ไม่มีเพลงเพื่อชีวิต และไม่มีเพลงปลุกใจให้รักชาติ เพลงในร้านน้ำชาจึงบ่งบอกถึงรสนิยมของผู้คนปัจจุบัน ที่ชอบความครึกครื้นด้วยสาระที่เบา ๆ
                   ชาวพม่านิยมไปร้านน้ำชา ไม่เพียงเพื่อดื่มชากาแฟ แต่ยังเพื่อการพักผ่อนและพูดคุยกัน บ้างนัดพบปะกันที่ร้านน้ำชา บ้างมาหารือกันในธุระส่วนตัว บ้างมาเจรจาธุรกิจการค้า หรือมาตกลงว่าจ้างนายหน้า บ้างมาสนทนาเรื่องการบ้านการเมือง  ตลอดจนเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย  หรือนินทา ต่างก็รับรู้ได้จากร้านน้ำชา ร้านน้ำชาจึงเป็นที่ไหลเวียนของข่าวคราว ข่าวสด ข่าวล่า และข่าวลือ  แต่เดี๋ยวนี้ร้านน้ำชามีทั้งหนุ่มและสาวมานั่งเล่นนั่งคุยกัน อาจเป็นเพราะค่านิยมระหว่างชายกับหญิงเริ่มฉายเงาซ้อนทับกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
                 ร้านน้ำชามีอาหารขายหลายอย่าง ของหลักคือ ชาร้อน มีทั้งแบบใส่นมข้นและใส่นมสด หากเป็นชาร้อนธรรมดา เรียกว่า ละแพะเหย่ แต่ถ้าเป็นชาร้อนใส่นมข้น เรียกว่า แช (iapN) คำนี้กร่อนมาจากคำว่า special แต่ถ้าใส่นมสด จะเรียกว่า  ก๊วดแช (8:9NiapN) หมายถึง good and special นั่นเอง
นอกจากชาร้อน ก็ยังมีกาแฟร้อนขายด้วยเช่นกัน บางที่มีนมสดขาย พม่าไม่นิยมดื่มชาเย็นหรือกาแฟเย็น ของที่กินร่วมกับน้ำชาส่วนมากมักเป็นของทอด เช่น ปาท่องโก๋ โรตี ซะโมซา ปอเปี๊ยะทอด  และยังมีซาละเปากับขนมปัง ซึ่งมีทั้งขนมปังปิ้งและขนมปังชุบไข่ทอด ชาวพม่านิยมดื่มชาร้อนกับปาท่องโก๋มากกว่าของทอดอย่างอื่น ปาท่องโก๋พม่าทอดเป็นคู่เช่นกัน แต่ต่างจากปาท่องโก๋ไทยตรงที่ขนาด ปาท่องโก๋พม่าจะยาวเกือบ ๑ ฟุต กินคู่เดียวก็พออิ่มท้อง
                   ร้านน้ำชาเป็นอีกที่หนึ่งที่ช่วยให้ได้เรียนรู้รสนิยม ตลอดจนวิถีชีวิตแบบพม่า ที่ร้านน้ำชานั้นเราอาจได้รู้จักชีวิตของเจ้าของร้าน ซึ่งบางคนมีใบปริญญาบัตรแขวนอวดไว้ที่ในร้าน เราอาจได้เรียนรู้ชีวิตของเด็กเสิร์ฟอายุน้อย ที่เดินว่อนคอยเรียกและเอาใจลูกค้า  เราอาจได้เรียนรู้ชีวิตของหนุ่มวัยรุ่น ที่ง่วนอยู่กับการทอดปาท่องโก๋ เราอาจได้สัมผัสชีวิตของผู้คนทั้งชายและหญิง ที่มานั่งพูดคุยถึงความเป็นไปในพม่า และเราอาจได้ข่าวสารที่หาอ่านไม่ได้ตามหน้าหนังสือพิมพ์
อาหารที่ขายในร้านน้ำชา มักมีรายการอาหารบริการลูกค้า ดังนี้
                  อาหาร                                          คำอ่าน                          ราคา
                   น้ำชา                                          เหย่-นเว-จาง                  (ไม่คิดเงิน)

                   ชาร้อน                                        ละแพะเหย่                    ๒๕ / ถ้วย
                   กาแฟ                                         กอผี่/กะผี่                      ๓๐ / ถ้วย
                   นมสด                                         นัวโนะ                          ๑๐๐ / แก้ว
                   ข้าวโอ๊ต                                       ก่วยก่าโอ๊ะ                    ๔๕ / แก้ว
                   ปาท่องโก๋                                    อี่จ่ากวย                        ๒๐–๒๕ / คู่
                   โรตี                                            ปะหล่าต่า                      ๓๐ / ชิ้น
                   โรตีโอ่ง                                       หนั่งบยา                        ๑๒ / แผ่น
                   ปอเปี๊ยะทอด                                ก่อเปี้ยงจ่อ                     ๑๐ / ชิ้น
                   ซะโมซา                                      สะหมู่ส่า                        ๒๐ / ชิ้น
                   ซาลาเปา                                      เป้าสี่                            ๔๕ / ลูก

                อันที่จริง ชาวพม่านิยมดื่มชามากกว่ากาแฟ ชาที่ดื่มเป็นชาร้อน และชอบดื่มกันเป็นประจำทั้งในยามเช้าและยามเย็น ต่อเมื่อรู้สึกเป็นไข้ หรือไม่สบายจึงจะหันมาดื่มกาแฟกัน ชาวพม่าจึงถือว่า กาแฟเป็นเครื่องดื่มสำหรับคนเจ็บไข้ได้ป่วย และในภาษาพม่าจะมีเฉพาะคำว่าร้านน้ำชา ไม่มีคำเรียกสำหรับร้านกาแฟอย่างบ้านเรา ชาจึงนับเป็นเครื่องดื่มประจำชาติของชาวพม่าตลอดมา  พอถึงสมัยนี้ การดื่มกาแฟกลับเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เดิมทีกาแฟที่คนพม่าดื่มนั้น เป็นกาแฟผงที่คั่วบดขายกันตามท้องตลาด มีกรรมวิธีในการชงที่ออกจะยุ่งยาก แต่เมื่อมีการนำกาแฟสำเร็จรูปเข้ามาขายในพม่า ชาวพม่าจึงเริ่มเปลี่ยนรสนิยมหันมาดื่มกาแฟกันมากขึ้น ด้วยหาซื้อกาแฟสำเร็จรูปได้ง่าย และราคาก็ไม่แพง ปัจจุบันกาแฟสำเร็จรูปมีวางขายทั่วไป ทั้งในตลาดสด ซูเปอร์มาร์เกต หรือแม้แต่ร้านน้ำชาเอง จนอาจเรียกยุคนี้ของพม่าเป็นยุคแห่งการดื่มกาแฟ หรือยุควัฒนธรรมกาแฟสำเร็จรูปได้ทีเดียวที่จริงแล้ว
                   การดื่มกาแฟสำเร็จรูปเพิ่งเริ่มนิยมในพม่าได้เพียงหนึ่งทศวรรษเท่านั้น แรกๆมีการนำกาแฟสำเร็จรูปมาทดลองตลาดในพม่า พอเริ่มมีผู้นิยมบริโภคกันมากขึ้น กาแฟหลากหลายยี่ห้อก็มุ่งเจาะตลาดในพม่า จนขณะนี้มีกาแฟสำเร็จรูปจำหน่ายในประเทศพม่าไม่ต่ำกว่า ๑๕ ยี่ห้อ จากการที่ชาวพม่าหันมาดื่มกาแฟกันมากขึ้น ตลาดกาแฟสำเร็จรูปจึงมีการแข่งขันกันสูง มีการใช้เทคนิคหลายอย่างเพื่อแย่งลูกค้ากัน อาทิ จ้างดาราชั้นนำของพม่ามาเป็นแบบโฆษณา ซึ่งนับว่าได้ผลมาก มีการแต่งเพลงประกอบโฆษณา ซึ่งขับร้องโดยนักร้องชื่อดังของพม่า บ้างนำเสนอภาพทิวทัศน์งามๆประกอบในโฆษณา และมีถึงขนาดเดินทางมาถ่ายทำโฆษณาที่จังหวัดภูเก็ตบ้านเรา ช่วงเวลาในการโฆษณาก็ลงทุนเสนอในรายการที่คนนิยม โดยเฉพาะรายการภาพยนตร์จีน นอกจากนี้บางบริษัทใช้เทคนิคขายตรงถึงลูกค้าทั้งในย่างกุ้งและต่างจังหวัด บางบริษัทนำสินค้าไปเสนอลูกค้าด้วยการชงแจกให้ทดลองดื่ม โดยเฉพาะที่ร้านน้ำชา และร้านอาหาร บ้างมีการแจกของแถม อาทิ ปากกา เสื้อยืด และปิ่นโต บ้างมีการแจกสลากนำโชค โดยซ่อนไว้ในซองกาแฟ นับว่ามีความพยายามหลายทางที่จะครองตลาด ปรากฏการณ์นี้จึงย่อมมีผลถึงการเปลี่ยนรสนิยมของชาวพม่าให้หันมาดื่มกาแฟแทนชากันมากขึ้น
                   ในการแย่งส่วนแบ่งทางตลาดนั้น หลายบริษัทคาดหวังที่จะขยายตลาดของตนด้วยการทุ่มทุนโฆษณากันอย่างเต็มที่ เพื่อให้สินค้าของตนติดหูติดตาลูกค้า แต่คุณภาพ รสชาติ ราคา การจัดจำหน่าย ตลอดจนรูปลักษณ์ของสินค้า ต่างเป็นปัจจัยในการยึดครองตลาด อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญน่าจะเป็นที่รสชาติและราคา ส่วนคุณภาพและปัจจัยอื่นๆนั้น ยังถือเป็นปัจจัยรอง เพราะตลาดส่วนใหญ่ของพม่าเป็นตลาดของคนที่มีรายได้น้อยและปานกลาง กาแฟที่จะสามารถยึดครองตลาดพม่าได้มาก จะต้องมีราคาเหมาะสมกับรายได้ของชาวพม่าทั่วไป และรสชาติก็ต้องถูกคอชาวพม่า คือ เข้ม มัน และอ่อนหวาน ปัจจัยด้านราคาและรสชาติจึงมีความสำคัญต่อการจูงใจชาวพม่าให้หันมาดื่มกาแฟ ในตอนนี้กาแฟร้อนตามร้านน้ำชามีราคาถ้วยละ ๒๕ จั๊ต ในขณะที่ชาร้อนมีราคาถ้วยละ ๓๐ จั๊ต ชาร้อนจึงเริ่มจะมีทีท่าพ่ายให้กับกาแฟสำเร็จรูปอย่างน่าจับตามอง ส่วนกาแฟสำเร็จรูปที่ขายติดอันดับในปัจจุบันนั้น คือ ยี่ห้อ Super Coffeemix และ Ben Caf้ ยี่ห้อแรกครองตลาดมาก่อน แต่เริ่มเสียตลาดให้กับยี่ห้อหลัง กาแฟทั้งสองยี่ห้อมีรสไม่หวานจัด ยี่ห้อหลังจะขมกว่ายี่ห้อแรกเล็กน้อย และทั้งสองยี่ห้อจะมีรสมัน ซึ่งถูกคอชาวพม่าทั่วไปการที่ชาวพม่าเริ่มนิยมดื่มกาแฟสำเร็จรูปกันมากขึ้นนั้น น่าจะเป็นเพราะกาแฟสำเร็จรูปเก็บรักษาง่าย ชงง่าย อีกทั้งหาซื้อง่าย ราคาถูก สะอาด และสะดวก คนพม่าบางส่วนจึงเริ่มหันมาดื่มกาแฟในตอนเช้า บ้างว่ากาแฟช่วยให้สดชื่น โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มเหล้าจะดื่มกาแฟเพื่อให้สร่างเมา อีกทั้งมีความนิยมถวายกาแฟให้กับพระสงฆ์ และจนแม้แต่เด็กเล็กก็เริ่มดื่มกาแฟแทนชาร้อนกันในตอนเช้า การดื่มกาแฟจึงได้เริ่มแทรกสู่วิถีชีวิตของชาวพม่ามากขึ้นเรื่อย ๆ
             นอกจากนี้ ยังได้มีการเสนอการบริโภคกาแฟในรูปแบบใหม่เป็นกาแฟเย็น ชาวพม่าจึงเริ่มรู้จักการดื่มกาแฟเย็น    และเป็นไข้ได้ง่าย ยิ่งเมื่อเพิ่งเดินผ่านแดดร้อนๆมา ชาวพม่าจะห้ามการดื่มของที่เย็นจัดอย่างน้ำแข็ง ห้ามล้างหน้า ล้างเท้า และห้ามอาบน้ำในทันที การดื่มกาแฟเย็นจึงดูจะขัดกับบริโภคนิสัยของชาวพม่า ที่มักเฝ้าระวังสุขภาพกันอยู่ตลอดเวลา การเสนอรสนิยมแบบใหม่ให้ชาวพม่าหันมาดื่มกาแฟเย็น หรือเปลี่ยนค่านิยมจากการดื่มชาร้อนมาเป็นกาแฟนั้น ถือเป็นจุดหมุนเปลี่ยนทางวัฒนธรรมการบริโภคของพม่าที่กำลังถูกทดสอบด้วยกลไกทางการตลาด อย่างไรก็ตาม ชาวพม่าส่วนมากยังเชื่อมั่นว่า ชาร้อนจะไม่มีวันถูกลืมเลือนไปจากวิถีชีวิตพม่า และร้านน้ำชาก็ไม่น่าจะกลายภาพเป็นร้านกาแฟไปได้ในยุคนี้

 

ใส่ความเห็น